เมื่อวันที่ 4 - 7 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา ดร.วิน เชยชมศรี ได้นำผลิตภัณฑ์เลือดจระเข้แคปซูล ตราวินน์ ไปจัดจำหน่ายที่งานมหกรรมทรัพย์สินทางปัญญา
หากพูดถึงสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งของไทยคงจะไม่พูดถึง “จระเข้” ก็คงจะไม่ได้เพราะประเทศไทยเป็นแหล่งฟาร์มเลี้ยงจระเข้ส่งออกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกมีมูลค่าการค้าโดยรวม 3,500 - 4,000 ล้านบาท/ปี โดยจระเข้ตัวหนึ่งๆ สามารถทำรายได้ได้หมดทุกส่วนตั้งแต่หัวจรดหางไม่ว่าจะเป็น เนื้อกระดูก หนัง ไม่เว้นแม้แต่ “เลือดจระเข้” ที่มีการทำวิจัยและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ มีโอกาสได้พูดคุยกับ รศ.ดร.วิน เชยชมศรี แห่งภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในทีมวิจัยเลือดจระเข้ระเหิดแห้ง จนกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริม “เลือดจระเข้แคปซูล” รายแรกของประเทศไทยและของโลก ที่ได้นำผลงานมาเข้าร่วมจัดแสดงในงานมหกรรมทรัพย์สินทางปัญญา (IP Fair 2017) เมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
จุดเริ่มต้นของงานวิจัยเลือดจระเข้นี้ อ.วิน เล่าว่า ในตำรายาแผนโบราณนั้นมักจะมีเลือดจระเข้ ดีจระเข้เป็นส่วนผสมอยู่แล้ว ซึ่งจะเห็นได้ว่าเวลาไปตามฟาร์มจระเข้ เรามักจะได้ยินผู้ที่มีปัญหาโรคมะเร็ง เบาหวาน หรือแม้แต่โลหิตจางไปขอเลือดจระเข้มารับประทาน รวมถึงมองเห็นปัญหาของอุตสาหกรรมฟาร์มจระเข้ที่ใช้ทุกส่วนในการผลิตผลิตภัณฑ์ แต่กลับทิ้งเลือดที่เป็นของดีไปโดยไม่เกิดประโยชน์ จึงคิดวิจัยนำเลือดจระเข้มาสร้างประโยชน์ให้ถูกต้องตามกระบวนการ และเป็นที่ยอมรับขององค์การอาหารและยา (อย.) ด้วย
แต่กว่าจะมาเป็นเลือดจระเข้แคปซูลนั้นทีมวิจัยได้ทำการวิจัยมาแล้วมากกว่า 10 ปี โดยได้คิดค้นอุปกรณ์เจาะเก็บเลือดจระเข้ปริมาณมากรวมถึงการนำเทคโนโลยีฟรีซดราย (Freezedry) ทำให้เลือดจระเข้อยู่ในรูปแบบแห้ง เพื่อให้เลือดที่ได้มานั้นปราศจากสารปนเปื้อนและมีคุณภาพดีที่สามารถใช้กับคนได้
“สิ่งที่สำคัญคือความสะอาด เพราะเราเอามาใช้กับคน เปรียบเหมือนกับการเจาะเลือดจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งสามารถทำได้โดยตรง ไม่มีการติดเชื้อ จึงได้ใช้หลักการเดียวกันหาวิธีทำให้เลือดจระเข้มีคุณภาพ และไม่มีการปนเปื้อน” อ.วิน กล่าว
ด้านตลาดเลือดจระเข้แคปซูลนั้นอยู่ที่ประเทศจีนเป็นหลัก ส่วนตลาดในประเทศไทยนั้น อ.วิน ระบุว่า เลือดจระเข้แคปซูลเป็นที่รู้จักแต่จะเยอะเฉพาะกลุ่ม โดยแต่ละปีใช้เลือดจระเข้ 1 หมื่นลิตร สามารถผลิตได้แค่ 4 ล้านเม็ด
“เกษตรกรที่จะกล้าเข้ามาทำจะต้องลงทุนสูงและมีคอนเน็กชั่นกับฟาร์มเลี้ยงจระเข้ ซึ่งส่วนใหญ่เลือดที่ได้มานั้นมาจากการบริจาค และรับซื้อจากฟาร์ม ส่วมมากจะเป็นฟาร์มขนาดใหญ่”
อย่างไรก็ตาม อ.วิน ระบุว่ายังมีอีกปัญหาหนึ่งที่รัฐบาลควรเข้ามาช่วยเพื่อผลักดันให้เป็นประเทศไทย 4.0 ในด้านของสุขภาพนั้น คือการต่อยอดงานวิจัย ที่ตอนนี้ยังเป็นได้แค่เพียง "อาหารเสริม" เท่านั้นไม่ใช่ "ยา"
"อยากให้รัฐบาลหาทีมแพทย์มารองรับ และทำวิจัยติดตามผลต่อยอด เพื่อให้สามารถผลิตและจดทะเบียนเป็นยาได้"